เมนู

โกสลสังยุต

ปฐมวรรค



1. ทหรสูตร



ว่าด้วยของ 4 อย่างไม่ควรดูหมิ่น


[322] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อาราม
ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศล
ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้วจึงได้ทรงปราศรัยกับพระผู้มี
พระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงประทับนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
[323] พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า แม้
ท่านพระโคดมทรงปฏิญาณหรือไม่ว่า ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอด
เยี่ยม.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนมหาบพิตร ก็พระองค์เมื่อจะ
ตรัสโดยชอบก็พึงตรัสถึงอาตมภาพว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ
อย่างยอดเยี่ยม ดูก่อนมหาบพิตร เพราะว่าอาตมาภาพได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
อย่างยอดเยี่ยมแล้ว.
[324] พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่
พระโคดมผู้เจริญ แม้สมณพราหมณ์บางพวก เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น

คณาจารย์ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนส่วนมากยกย่องว่าดี คือ
ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ
อชิตเกสกัมพล.
สมณพราหมณ์แม้เหล่านั้น เมื่อถูกข้าพระองค์ถามว่า ท่านทั้งหลาย
ย่อมปฏิญาณได้หรือว่า เราได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณดังนี้ ก็ยัง
ไม่ปฏิญาณตนได้ว่า ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนพระโคดมผู้
เจริญยังทรงเป็นหนุ่มโดยกำเนิดและยังทรงเป็นผู้ใหม่โดยบรรพชา ไฉนจึง
ปฏิญาณได้เล่า.
[325] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ดูก่อนมหาบพิตร ของ
4 อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย 4 อย่างเป็นไฉน ของ 4 อย่าง
คือ
1. กษัตริย์ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
2. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
3. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
4. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม

ดูก่อนมหาบพิตร ของ 4 อย่างเหล่านี้ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็ก
น้อย.
[326] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำ
ร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า
นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่น กษัตริย์ผู้
ถึงพร้อมด้วยพระชาติ มีพระชาติสูง ผู้
ทรงพระยศว่ายังทรงพระเยาว์ เพราะเหตุ
ว่า พระองค์เป็นจอมมนุษย์ ได้เสวยราช-

สมบัติแล้ว ทรงพระพิโรธขึ้น ย่อมทรงลง
พระราชอาญาอย่างหนักแก่เขาได้ เพราะ
ฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการ
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์นั้นเสีย.
นรชนเห็นงูที่บ้านหรือที่ป่าก็ตาม ไม่ว่า
พึงดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก (เพราะเหตุว่า)
งูเป็นสัตว์มีพิษ (เดช) ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์
ไร ๆ งูนั้นพึงฉกกัดชายหญิงผู้เขลาในบาง
คราว เพราะฉะนั้น ผู้รักษาชีวิตของตน
พึงงดเว้นการดูหมิ่นงูนั้นเสีย.
นรชนไม่พึงดูถูกดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อ
มาก ลุกเป็นเปลว มีทางดำ (ที่ๆไฟไหม้
ไปดำ) ว่าเล็กน้อย เพราะว่าไฟนั้นได้เชื้อ
แล้วก็เป็นกองไฟใหญ่ พึงลามไหม้ชาย
หญิงผู้เขลาในบางคราว เพราะฉะนั้น ผู้
รักษาชีวิตของตน พึงงดเว้นการดูหมิ่นไฟ
นั้นเสีย.
(แต่ว่า) ป่าใดที่ถูกไฟไหม้จนดำไป
แล้ว เมื่อวันคืนล่วงไป ๆ พันธุ์หญ้าหรือ
ต้นไม้ยังงอกขึ้นที่ป่านั้นได้ ส่วนผู้ใดถูก
ภิกษุผู้มีศีลแผดเผา ด้วยเดช บุตรธิดาและ
ปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของ

เขาก็ย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้
ไม่มีพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน.
เพราะฉะนั้นบุคคลผู้เป็นบัณฑิต
พิจารณาเห็นงู ไฟ กษัตริย์ผู้ทรงยศ และ
ภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นภัยแก่ตน พึงประพฤติ
ต่อโดยชอบทีเดียว.

[327] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบลงแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศล
ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่ม
แจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก บุคคลหงาย
ของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วย
หวังว่า ผู้มีจักษุจะได้เห็นรูป ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงธรรม
โดยปริยายเป็นอันมาก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณคมน์จน
ตลอดชีวิตทั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

โกสลสังยุต



อรรถกถาทหรสูตร



พึงทราบวินิจฉัยในทหรสูตรที่ 1 ต่อไป:-
บทว่า ภควตา สทฺธึ สมฺโมทิ ความว่า แม้พระเจ้าปเสนทิโกศล
ก็ทรงมีความยินดีร่วมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยอาการอย่างเดียวกับพระผู้มี
พระภาคเจ้าตรัสถามถึงขันธปัญจกพอทนได้เป็นต้น ยินดีกับท้าวเธอ คือทรง
นำความยินดีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนน้ำเย็นกับน้ำร้อน ฉะนั้น อนึ่ง
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงยินดี [บันเทิง] ด้วยถ้อยคำอันใดเป็นต้นว่า ท่าน
พระโคดม พอทนหรือ พอเป็นไปได้หรือ ท่านพระโคดมและเหล่าสาวกของ
พระโคดมมีอาพาธน้อย มีโรคน้อย คล่องแคล่ว มีเรี่ยวแรง อยู่เป็นสุขอยู่
หรือ ทรงนำถ้อยคำนั้น ที่น่ายินดี น่าให้ระลึกถึงกันล่วงไป ให้ถึงที่สุด คือ
จบลงด้วยปริยายเป็นอันมากอย่างนี้ คือ ชื่อว่า สัมโมทนียะ เพราะให้เกิดความ
ยินดีกล่าวคือ ปีติปราโมทย์ และควรที่จะยินดี ชื่อว่า สาราณียะ เพราะมี
อรรถพยัญชนะไพเราะ และเพราะเป็นถ้อยคำที่ควรระลึก โดยควรที่จะให้
ระลึกถึงตลอดกาลนาน ๆ คือเป็นไปเป็นนิตย์ ไม่ทรงทราบความลึก หรือความ
ตื้น โดยคุณและโทษ เพราะไม่เคยพบพระตถาคต จึงประทับนั่ง ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อประทับนั่งแล้ว ก็ตรัสว่า ภวํปิ โน เป็นต้นเพื่อจะทูลถาม
ปัญหาเรื่องการสลัดออกจากโลกและการลงสู่ภพคือ ความเป็นพระสัมมาสัม-
พุทธะของศาสดา ที่ท้าวเธอเสด็จมาทำเป็นโอวัฏฏิกสารปัญหา คือปัญหาที่มี
สาระวกวน. ศัพท์ว่า ภวมฺปิ ในคำทูลถามนั้น เป็นนิบาตลงในอรรถว่า
ประมวล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงประมวลศาสดาทั้ง 6 ด้วยศัพท์นั้น. อธิบาย
ว่า ท่านพระโคดมก็ปฏิญาณ เหมือนศาสดาทั้ง 6 มีปูรณกัสสปเป็นต้น ที่